บทความทางการแพทย์

การผ่าตัดหัวใจทำได้กับโรคหัวใจใดบ้าง ?


โรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบบ่อยและรักษาได้ด้วยการผ่าตัดหัวใจ ได้แก่

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

เกิดจากการที่มีไขมันเกาะที่ผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง เกิดการไหลเวียนของเลือดลดลงจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย


อาการของหลอดเลือดหัวใจตีบ

•   แน่นหน้าอก ขณะออกกำลังกายหรือทำงานหนัก แต่เมื่อพักอาการจะทุเลาลง
•    หายใจเหนื่อยหอบ จากภาวะหัวใจวาย
•    เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน เหงื่อออกเป็นลม

ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

•    อายุมากขึ้น ความเสื่อมของร่างกายโดยธรรมชาติ
•    โรคความดันโลหิตสูง
•   การสูบบุหรี่
•    โรคเบาหวาน
•    ความอ้วน
•    การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
•    พันธุกรรม

การผ่าตัดทำทางเบี่ยงของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting) หมายถึง การผ่าตัดหัวใจเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการทำทางเบี่ยงของทางเดินเลือดใหม่ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจด้วยเส้นทางใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบายขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำกิจวัตรประจำวันที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดและลดอัตราการเสียชีวิตกะทันหัน

ข้อบ่งชี้ของการทำ Bypass

•    มีการตีบตันของหลอดเลือดโคโรนารีซ้ายอย่างรุนแรง
•    มีการตีบของหลอดเลือดหัวใจรุนแรงหลายเส้น
•    ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย

การตรวจของแพทย์

•   ซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป
•   ตรวจเพิ่มเติมพิเศษต่างๆเช่นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), การวิ่งสายพาน (Exercise stress test) ขณะวิ่งสายพาน ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอก เส้นเลือดหัวใจตีบ ผลจะส่งไปปรากฏที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน ความถี่สูง (Echocardiography)
•   การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary Computerized tomography angiography)
•   การฉีดสี

ขั้นตอนการผ่าตัด Bypass
วิสัญญีแพทย์วางยาสลบ (General anesthesia) ศัลยแพทย์ผ่าเปิดกระดูกหน้าอกและเอาเส้นเลือดแดงใต้กระดูกหน้าอก เส้นเลือดดำที่ขา และ/หรือ เส้นเลือดแดงที่แขน มาต่อข้ามเส้นเลือดเดิมที่ตีบตัน ปลายข้างหนึ่งของหลอดเลือดใหม่จะต่อใต้เส้นเลือดเดิมที่ตีบตัน ปลายอีกข้างหนึ่งต่อเหนือเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจที่ตีบตัน จะได้เส้นทางเดินของเลือดใหม่ เลือดจะไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น

รูปที่ 2. การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส 3 เส้น โดยใช้ หลอดเลือดเสริม (graft) 3 ชนิด ได้แก่ (1) หลอดเลือดแดงหลังกระดูกหน้าอก (internal thoracic artery) (2) หลอดเลือดแดงจากแขน เรเดียล (radial artery) และ (3) หลอดเลือดดำที่ขา (saphenous vein graft)

แต่เดิมการผ่าตัดจะใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (On-Pump Coronary Artery Bypass Grafting, รูปที่ 3) มาช่วยในการทำงานเพื่อให้หัวใจหยุดเต้นโดยศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันการผ่าตัดโรคหัวใจหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน สามารถทำได้โดยโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass Grafting) หรือหัวใจไม่หยุดเต้น โดยใช้เครื่องมือช่วยให้บริเวณผ่าตัดหยุดนิ่งพอที่ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดได้ (รูปที่ 4) ศัลยแพทย์จะเป็นผู้ที่เลือกชนิดของการผ่าตัดให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย

การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมมีข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือหัวใจหยุดเต้น ศัลยแพทย์สามารถทำการต่อหลอดเลือดใหม่ได้ง่าย แต่การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมก็มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นทั่วร่างกาย เนื่องจากเลือดทั้งหมดในร่างกายต้องออกมาผ่านเครื่องปอดหัวใจเทียม เพิ่มเติมออกซิเจนแล้วให้กลับไปในตัวผู้ป่วยใหม่ นอกจากนี้ร่างกายยังกระตุ้นสารเคมี ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมยังมีผลต่อเกล็ดเลือดและการแข็งตัวตัวของเลือด ซึ่งอาจทำให้เลือดออกมากผิดปกติหลังผ่าตัด การใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมมีผลต่อระบบการทำงานของปอด ไตและสมองนอกจากนี้การทำให้หัวใจหยุดโดยใช้สารเคมีซึ่งจำเป็น ยังอาจมีผลกระทบในระดับเซลล์ของหัวใจและทำให้การฟื้นตัวและการทำงานของหัวใจลดลงหลังผ่าตัดหัวใจ ในบางกรณีที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งมีเศษไขมันหรือคราบไขมันติดอยู่ตรงหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า (aorta) อยู่เดิมแล้ว เมื่อใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอาจทำให้เศษไขมันที่เกาะอยู่หลุดเข้าไปในระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ หรือฟองอากาศเล็กๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมอาจหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าหลุดเข้าไปในระบบการทำงานของสมองอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ ถ้าหากศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดหลอดเลือดบายพาสได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม ภาวะแทรกซ้อนทั้งหมดของเครื่องปอดหัวใจเทียมจะถูกตัดออกไป 100 % การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาสโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (Off-pump Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการทางเลือกจากเดิม อย่างไรก็ตามการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาสโดยหัวใจไม่หยุดเต้นก็มีผลข้างเคียงถ้าศัลยแพทย์ไม่มีความชำนาญและประสบการณ์เพียงพอจะทำให้เส้นเลือดตีบตันกว่าเดิมได้ หรือศัลยแพทย์บางท่านที่มีการประสานงานกับวิสัญญีแพทย์ได้ไม่ดีพอจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน


นพ.เพิ่มยศ เรืองสกุลราช
ศัลยศาสตร์หัวใจหลอดเลือดและทรวงอก
โรงพยาบาลพญาไท 3 
Contact Us
โรงพยาบาลพญาไท 3
  • 111 ถนนเพชรเกษม แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ 10160
  • 66-(0)2-467-1111
  • [email protected]
Copyrights ©2015 www.phyathai.com